วงทองอยู่มังคละ บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำน่านและแควน้อย |
จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก |
เวลาทุ่ม ๑ กลับมาถึงเรือ พอกินข้าวแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละ มาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คืนวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโขน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง ได้ยินอีกหนหนึ่ง ทีนี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง แต่ไม่แลเห็นอะไรเพราะพงบังเสีย นึกเอาว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่า เถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสะกัดน้ำมัน ได้ยินอีกไกล ๆ จึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร ท่านสมภารอธิบายว่า ปี่พาทย์ชนิดหนึ่งเรียกว่ามังคละ พระยาเทพาอยู่ที่นั่นด้วย ก็เลยอธิบายว่า เป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลแลการอัปมงคล หากันวันกับคืนหนึ่งเป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกะทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอก เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้น ขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ
แต่ประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดไม่ปรากฏเพราะสมัยโบราณมีการเดินทางค้าขายติดต่อกันทางน้ำ ผู้สูงอายุเล่าสืบต่อกันมาว่าพบเห็นการเล่นดนตรีพื้นบ้านมังคละมาหลายช่วงอายุคนแล้ว เพราะทางสุโขทัยที่เดินทางมาตามลำน้ำยมสายเก่า(ปัจจุบันคือคลองเมม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกห่างจากบ้านกร่างท่าวัว 5 กิโลเมตร) มาติดต่อค้าขายที่บ้านกร่างท่าวัว(ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก) พวกค้าวัวควายจากกำแพงเพชรก็มารวมกันที่บ้านกร่างท่าวัว บางส่วนมาตามลำน้ำน่าน เช่น อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตรและจังหวัดนครสวรรค์ บางส่วนเดินทางมาตามลุ่มน้ำแควน้อย เช่น อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอนครไทย มาขึ้นบกที่บ้านจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลกซึ่งห่างจากบ้านกร่างท่าวัวประมาณ 2 กิโลเมตร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดให้กันจึงพบเห็นการเล่นดนตรีพื้นบ้านมังคละได้ในหลายชุมชน มีผิดแปลกกันเพราะลูกเล่น เทคนิค ความสามารถ ของพ่อครูแม่ครูที่คิดค้นพัฒนาเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวง
รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย ให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากความร่วมมือของคณะครู นักเรียน และชุมชนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน โรงเรียนวัดจอมทองได้ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลจอมทอง พบว่าดนตรีพื้นบ้านมังคละเป็นดนตรีพื้นบ้านที่ชาวบ้านตำบลจอมทองมาเล่นมาแต่โบราณ ใช้แสดงในงานมงคล เช่น งานบวช , งานแต่งงาน และงานรื่นเริงต่างๆ
การเล่นมังคละ นับวันจะถูกกระแสวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน อันเป็นวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมอุตสาหกรรม และสังคมเทคโนโลยีเข้าครอบงำ จึงทำให้ของดีที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ถูกกลืนไปอย่างน่าเสียดาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เห็นว่า ต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้า สืบสาน เพื่อเก็บรักษาศิลปะการเล่นมังคละพื้นบ้านจังหวัดพิษณุโลก อันเป็นร่องรอยจากอดีตให้คงอยู่ต่อไป
ขอรายละเอียดจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกบ้าง
ตอบลบ